ความปลอดภัยในการใช้น้ำผึ้ง

การรับประทานน้ำผึ้งอาจไม่ปลอดภัยต่อทารกและเด็กที่ยังเล็กอยู่มาก อย่าให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 เดือนรับประทานน้ำผึ้งดิบ เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงเกิดพิษจากสารโบทูลินั่มต่อร่างกายได้ ซึ่งอาจจะไม่เป็นอันตรายต่อเด็กที่โตกว่านี้หรือผู้ใหญ่


หญิงที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรน่าจะสามารถรับประทานน้ำผึ้งในปริมาณปกติที่พบได้จากอาหารในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย แต่การรับประทานในปริมาณมากเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์นั้นยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้ เพื่อความปลอดภัย หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำผึ้งเพื่อการช่วยรักษาโรคต่าง ๆ


น้ำผึ้งที่ผลิตจากน้ำหวานของดอกโรโดเดนดรอน (Rhododendrons) อาจไม่ปลอดภัยเมื่อนำมารับประทาน เพราะน้ำผึ้งชนิดนี้ประกอบด้วยสารพิษที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ความดันโลหิตต่ำ เจ็บหน้าอก รวมถึงปัญหาหัวใจชนิดร้ายแรงอื่น


ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำผึ้งที่ผลิตมาจากเกสรดอกไม้ด้วยเช่นกัน


ปฏิกิริยาต่อยาหรือสมุนไพรอื่น ๆ


น้ำผึ้งเองอาจมีฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือด หากรับประทานร่วมกับยาเหล่านี้อาจทำให้ยิ่งเสี่ยงต่อการมีเลือดออกหรือฟกช้ำได้ เช่น แอสไพริน (Aspirin) โคลพิโดเกรล (Clopidogrel) และยาต้านการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นต้น


น้ำผึ้งอาจทำปฏิกิริยากับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือดได้เช่นกัน และส่งผลให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออกได้ เช่น กานพลู กระเทียม ขิง โสม แปะก๊วย และอื่น ๆ
ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) อาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากขึ้นเมื่อรับประทานร่วมกับน้ำผึ้ง ทำให้อาจได้รับผลข้างเคียงจากยานี้มากขึ้น
ปริมาณที่ปลอดภัยต่อการใช้


การใช้น้ำผึ้งเพื่อรักษาอาการไอ ควรรับประทานที่ปริมาณ 2.5-10 มิลลิลิตร ก่อนนอน


การใช้น้ำผึ้งรักษาแผลต่าง ๆ สามารถทาลงบนผิวหนังได้โดยตรงหรือใช้ผ้าพันแผลชุบน้ำผึ้งแปะไว้ ควรเปลี่ยนผ้าพันแผลทุก 24-48 ชั่วโมง และอาจใช้ผ้าพันแผลชุบน้ำผึ้งนี้ได้นานถึง 25 วัน โดยควรมีการสำรวจดูแผลทุก ๆ 2 วัน กรณีที่ใช้ทาบนผิวหนังโดยตรงให้ใช้น้ำผึ้งในปริมาณ 15-30 มิลลิลิตรทาทุก 12-48 ชั่วโมง แล้วปิดด้วยผ้าก๊อซสะอาดหรือผ้าพันแผล

Scroll to Top