ผึ้ง (Bee)

ผึ้ง (ฺBee) เป็นแมลงสังคม (Social insect) ที่มีการแบ่งวรรณะสำหรับทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน จัดเป็นแมลงเศรษฐกิจที่ผลิตน้ำผึ้งสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องสำอางต่างๆ รวมถึงเป็นแมลงที่มีบทบาทสำคัญสำหรับการผสมเกสรของพืช

วรรณะผึ้ง

  1. ผึ้งนางพญา (Queen)
    เป็นผึ้งที่มีลำตัวใหญ่ที่สุด มีอายุขัยมากกว่า 1 ปี อาจได้มากถึง 7 ปี ลักษณะลำตัว มีปีกสั้นเพียงครึ่งลำตัว ท้องเรียวยาว ลำตัวสีดำออกหม่น ท้องมีสีน้ำตาล ก้นแหลม ขาหลังไม่มีที่เก็บเกสร ไม่มีต่อมผลิตไขผึ้ง มีหน้าที่ผสมพันธุ์ และวางไข่ ควบคุมประชากรผึ้งวรรณะอื่นด้วยฟีโรโมนส์ไปทั่วรัง โดยทั่วไปใน 1 รังจะมีผึ้งนางพญา 1 ตัวเท่านั้น ยกเว้นบางรังที่มีขนาดใหญ่ อาจพบได้ 2-3 ตัว ในระยะเติบโต แต่เมื่อถึงวัยผสมพันธุ์ก็จะแยกออกเหลือเพียง 1 ตัว/รังเหมือนเดิม เมื่อโตเต็มวัยจะผสมพันธุ์กับตัวผู้ และจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวในช่วงชีวิต ผึ้งนางพญามีเหล็กไนใช้สำหรับต่อสู้กับผึ้งนางพญาตัวอื่น ผึ้งนางพญาจะอาศัยบนรัง ไม่ออกหาอาหาร และถูกห้อมล้อมด้วยงาน และใช้หนวดแตะ หรือใช้ลิ้นเลียลำตัวผึ้งนางพญาเพื่อทำความสะอาด และนำของเสียจากนางพญาไปปล่อยทิ้ง
  2. ผึ้งตัวผู้ (Drone)
    ผึ้งตัวผู้มีขนาดใหญ่รองลงมาจากผึ้งนางพญา และอ้วนสั้นกว่าผึ้งนางพญา มีจำนวนมากกว่าผึ้งนางพญาเล็กน้อย 200-500 ตัว/รัง มีอายุขัย 4-6 สัปดาห์ เป็นผึ้งไม่มีเหล็กไน มีลิ้นสั้นสำหรับเลียรับอาหารจากผึ้งงาน ผึ้งตัวผู้จะอยู่บนรัง ไม่ออกหาอาหาร ทำหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ คอยผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญา

ผึ้งตัวผู้ เป็นผึ้งที่เจริญมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสม หลังฟักออกจากดักแด้ 16 วัน จะสามารถผสมพันธุ์ได้ มีพฤติกรรมผสมพันธุ์ คือ ในวันที่มีอากาศดี อุณหภูมิเหมาะสม ผึ้งตัวผู้จะบินรวมกลุ่มกันบริเวณใกล้รังที่ใดที่หนึ่ง เมื่อมีผึ้งนางพญาบินผ่านก็จะบินเข้าเกาะด้านหลัง และผสมพันธุ์ หลังจากผสมพันธุ์ผึ้งตัวผู้จะตกตาย โดยยังค้างอวัยวะสืบพันธุ์ติดอยู่กับผึ้งนางพญา หากไม้ได้ผสมพันธุ์ก็จะบินกลับรังรอโอกาสในวันต่อไป หากหมดฤดูผสมพันธุ์ ถ้าผึ้งตัวผู้ตัวใดไม่ได้ผสมพันธุ์ก็จะถูกไล่ออกจากรังหรือผึ้งงานไม่ป้อนอาหาร และตายในที่สุด

  1. ผึ้งงาน (Worker)
    ผึ้งงานเป็นผึ้งที่มีขนาดเล็กที่สุด แต่มีปริมาณมากที่สุด 5,000-30,000 ตัว/รัง มีอายุขัย 6-8 สัปดาห์ จัดเป็นผึ้งเพศเมียโดยเกิดจากไข่ที่ได้รับการผสมจากผึ้งตัวผู้ แต่เป็นเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์เพศ เนื่องจากรังไข่ฝ่อ มีขนาดเล็ก ไม่มีการสร้างไข่ ยกเว้นกรณีที่รังขาดนางพญา ผึ้งงานบางตัวอาจทำหน้าที่สร้างไขทดแทนได้ แต่จะเป็นไข่ผึ้งตัวผู้เท่านั้น ผึ้งวรรณะนี้ ทำหน้าที่ออกหาอาหาร หาน้ำหวาน สร้างรังจากไขที่ผลิตจากต่อม คอยเลียทำความสะอาดนางพญา และรัง ทำหน้าที่่ป้อนอาหารให้แก่ผึ้งนางพญา และผึ้งตัวผู้

ผึ้งงานในระยะตัวอ่อนจะได้รับอาหารจากผึ้งงาน แต่จะน้อยกว่าที่ได้รับเมื่อเทียบกับผึ้งนางพญา เพื่อเป็นการกระตุ้น และกำหนดวรรณะให้เป็นผึ้งงาน

ที่มา : ไชยา อุ้ยสูงเนิน, 2531(1)

Scroll to Top